วัดสร้อยทอง เดิมชื่อ "วัดซ่อนทอง" เป็นวัดเก่ามีมานาน สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๔ ไม่ทราบนามและประวัติของผู้สร้าง สันนิษฐานว่าคงเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจาก เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลือง นามว่า หลวงพ่อเหลือ สร้างจากโลหะที่เหลือจากการหล่อพระประธาน ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ภายในเกศของหลวงพ่อบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ ๕ พระองค์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ บริเวณที่ตั้งวัดอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ เป็นผลให้หลายส่วนของวัดได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด แต่ปรากฏว่า หลวงพ่อเหลือ กลับไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จึงได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวบ้านมาโดยตลอด
ปัจจุบันวัดสร้อยทองได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๑๓ เดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕
สถานที่ตั้ง
อยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ๒ บริเวณปากคลองบางซ่อน มีเลขทะเบียนปกครองที่ ๑๓๑๙ ถนนประชาราษฎร์สาย ๑ แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
วัดสร้อยทองก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒
หอจดหมายแห่งชาติท่าวาสุกรีได้บันทึกว่าในปี ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๕) และปี ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) กล่าวถึงรายงานการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ของวัดสร้อยทอง มีคหบดีและประชาชนชาวไทย ชาวญวน เป็นกำลังสำคัญในการบูรณะช่วงเวลาดังกล่าว หลวงปู่เบี้ยว เป็นเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง โดยมีหลวงนิกรมบริรักษ์ (เจิม) เป็นมรรคนายก (ท่านผู้นี้เป็นต้นตระกูลกาญจนินทุ) มีบ้านเรือนอยู่ในคลองบางซ่อน บุตรชาย ของท่านเป็นอดีตกรมศิลปากร คือ พ.อ. หลวงรณสิทธิชัย (เจือ กาญจนินทุ)สภาพของวัดสร้อยทองในอดีต มีความพร้อมในทุกด้าน ศาสนวัตถุก่อเกิดขึ้นมากมายมีหมู่กุฏิสงฆ์หอสวดมนต์หอระฆังหอกลองศาลาท่าน้ำเจดีย์ใหญ่และมณฑปพระพุทธบาทหลวงปู่เบี้ยวท่านเป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะหมวดคลองบางซ่อนขึ้นอยู่กับการปกครองของพระราชเมธี (ขาว เขมโก) วัดสามพระยา ซึ่งเป็นเจ้าคณะแขวงพระนครบน
-->
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น