ตระเวนทำบุญ
วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559
วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556
วัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม และมีความสําคัญทางด้านประวัติศาสตร์ วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองลําปาง ตามตํานานกล่าวว่า มีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ตัววัดตั้งอยู่บนเนิน มีบันไดนาคทอดขึ้นสู่ตัววัด
วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่ ต.ลําปางหลวง ห่างจากตัวเมืองลําปาง ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายลําปาง-เถิน ถึงหลักกิโลเมตรที่ 586 เลี้ยวเข้าไปจนถึงที่ว่าการอําเภอเกาะคา
จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร
วัดพระธาตุลำปางหลวง มีพุทธสถานที่น่าสนใจได้แก่ วิหารหลวง ซึ่งเป็นวิหารขนาดใหญ่ เปิดโล่ง มีกู่บรรจุพระเจ้าล้านทอง เป็นประธานของพระวิหาร หลังพระวิหารมีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระเจดีย์มีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฎอยู่ ด้านขวาองค์เจดีย์เป็นวิหารน้ำแต้ม (แต้ม แปลว่าภาพเขียน) เป็นวิหารเปิดโล่ง ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก ด้านซ้ายของพระเจดีย์เป็นวิหารพระพุทธ เป็นอาคารปิดทึบ มีพระประธานแบบเชียงแสนองค์ใหญ่อยู่เต็มอาคาร หน้าบันของวิหารพระพุทธเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี และพิพิธภัณฑ์ของวัด ซึ่งรวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่างๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ดธรรมาสนเทศน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น
นอกจากนี้ วัดพระธาตุลำปางหลวง ยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต่า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลําปาง ทุกปีจะมีงานประจําปีในวันเพ็ญเดือน 12
วัดสร้อยทอง
วัดสร้อยทอง เดิมชื่อ "วัดซ่อนทอง" เป็นวัดเก่ามีมานาน สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๔ ไม่ทราบนามและประวัติของผู้สร้าง สันนิษฐานว่าคงเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจาก เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลือง นามว่า หลวงพ่อเหลือ สร้างจากโลหะที่เหลือจากการหล่อพระประธาน ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ภายในเกศของหลวงพ่อบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ ๕ พระองค์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ บริเวณที่ตั้งวัดอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ เป็นผลให้หลายส่วนของวัดได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด แต่ปรากฏว่า หลวงพ่อเหลือ กลับไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จึงได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวบ้านมาโดยตลอด
ปัจจุบันวัดสร้อยทองได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๑๓ เดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕
สถานที่ตั้ง
อยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ๒ บริเวณปากคลองบางซ่อน มีเลขทะเบียนปกครองที่ ๑๓๑๙ ถนนประชาราษฎร์สาย ๑ แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
วัดสร้อยทองก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒
หอจดหมายแห่งชาติท่าวาสุกรีได้บันทึกว่าในปี ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๕) และปี ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) กล่าวถึงรายงานการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ของวัดสร้อยทอง มีคหบดีและประชาชนชาวไทย ชาวญวน เป็นกำลังสำคัญในการบูรณะช่วงเวลาดังกล่าว หลวงปู่เบี้ยว เป็นเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง โดยมีหลวงนิกรมบริรักษ์ (เจิม) เป็นมรรคนายก (ท่านผู้นี้เป็นต้นตระกูลกาญจนินทุ) มีบ้านเรือนอยู่ในคลองบางซ่อน บุตรชาย ของท่านเป็นอดีตกรมศิลปากร คือ พ.อ. หลวงรณสิทธิชัย (เจือ กาญจนินทุ)สภาพของวัดสร้อยทองในอดีต มีความพร้อมในทุกด้าน ศาสนวัตถุก่อเกิดขึ้นมากมายมีหมู่กุฏิสงฆ์หอสวดมนต์หอระฆังหอกลองศาลาท่าน้ำเจดีย์ใหญ่และมณฑปพระพุทธบาทหลวงปู่เบี้ยวท่านเป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะหมวดคลองบางซ่อนขึ้นอยู่กับการปกครองของพระราชเมธี (ขาว เขมโก) วัดสามพระยา ซึ่งเป็นเจ้าคณะแขวงพระนครบน
-->
อุทยานแห่งชาติประวัติศาสตร์สุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ห่างจากตัวจังหวัดสุโขทัยไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ถนนจรดวิถีถ่อง ทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย-ตาก
ในอดีตเมืองสุโขทัยเคยเป็นราชธานีของไทยมีความเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการปกครอง ศาสนา และเศรษฐกิจ ภายในอุทยานฯ มีสถานที่สำคัญที่เป็นพระราชวัง ศาสนสถาน โบราณสถาน โดยมีคูเมือง กำแพงเมือง และประตูเมืองโบราณล้อมรอบอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
บริเวณพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยครอบคลุมพื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตร และมีโบราณสถานสำคัญที่น่าชมมากมาย
อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท หรือสามารถซื้อตั๋วรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมอุทยานฯ ต่าง ๆ ในจังหวัดสุโขทัยได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน เปิดให้ เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน
ในกรณีที่นำยานพาหนะเข้าเขตโบราณสถานจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกด้วย และที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการ รถจักรยาน ให้เช่าในราคาคันละ 20 บาท
กรณีเข้าชมเป็นหมู่เป็นคณะ และต้องการวิทยากรนำชม หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย 64210 โทร. 0-5569-7310
การเดินทาง จากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที
วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556
อุทยานแห่งชาติประวัตศาสตร์กำแพงเพชร
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงและเป็นบริเวณที่ตั้งของตัวจังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบัน ลักษณะเมืองมีรูปแบบคล้ายกับสี่เหลี่ยมคางหมูวางยาวขนานไปกับแม่น้ำ ความยาวของกำแพงเมืองด้านเหนือประมาณ 2,400 เมตร ด้านใต้ประมาณ 2,160 เมตร ความกว้างด้านตะวันออกประมาณ 540 เมตร และความกว้างด้านตะวันตกประมาณ 220 เมตร กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงทำเป็นชั้นเชิงเทิน ตอนบนสุดก่อเป็นรูปใบเสมา มีประตูเมืองโดยรอบรวม 10 ประตู กำแพงเมืองยังมีป้อมปราการที่มั่นคงแข็งแรงทั้งที่บริเวณมุมเมืองทั้ง 4 มุมและในแนวกำแพงเมือง รวมทั้งยังมีป้อมรูปสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ด้านหน้าประตูเมืองด้วย ถัดจากกำแพงเมืองศิลาแลงเป็นคูเมืองกว้างประมาณ 30 เมตร จากการที่เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง จึงพบหลักฐานเกี่ยวกับการทดน้ำจากแม่น้ำปิง เพื่อนำน้ำเข้าสู่คูเมืองบริเวณมุมหัวเมือง และเมื่อน้ำล้นคูเมืองเกินความจำเป็นแล้วก็จะระบายออกที่ด้านมุมท้ายเมืองลงสู่ลำคลองธรรมชาติ
ภายในเมืองและนอกเมืองกำแพงเพชรมีซากโบราณสถานใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก เกือบทั้งหมดเป็นศาสนสถานเนื่องในพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ กลางเมืองมีวัดพระแก้ว วัดพระธาตุเป็นศูนย์กลาง เป็นลักษณะวัดหลวงที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาส ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ทางด้านทิศเหนือของวัดพระแก้วเป็นบริเวณที่เรียกว่าสระมน (เชื่อกันว่าเป็นบริเวณวังโบราณ) และเทวสถานศาลพระอิศวรซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณนอกเมืองทางด้านทิศเหนือ มีกลุ่มวัดโบราณขนาดใหญ่น้อยประมาณ 40 แห่ง สร้างอยู่บนเนินเขาลูกรังขนาดย่อม จัดเป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานสำคัญ ได้แก่ วัดพระนอน วัดป่ามืด วัดพระสี่อิริยาบถ วัดฆ้องชัย วัดนาคเจ็ดเศียร วัดสิงห์ วัดกำแพงงาม วัดเตาหม้อ วัดช้างรอบ และวัดอาวาสใหญ่ กลุ่มโบราณสถานเขตอรัญญิกนับเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองกำแพงเพชร ด้วยโบราณสถานสร้างรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โบราณสถานมีขนาดใหญ่โตอลังการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และมีความงดงามทางศิลปกรรมของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรควบคู่กันไป
บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงหรือฝั่งตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งที่เรียกว่าเมืองนครชุม ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ตรงปากคลองสวนหมาก กำแพงเมืองเป็นลักษณะคันดินสามชั้น ซึ่งในปัจจุบันถูกทำลายไปมากทั้งการกัดเซาะของแม่น้ำปิง และการขยายตัวของชุมชนปัจจุบัน
กลุ่มโบราณสถานสำคัญชองเมืองนครชุมตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศใต้ ห่างจากแนวกำแพงเมืองประมาณ 500 เมตร เป็นกลุ่มวัดเขตอรัญญิกของเมืองนครชุม วัดสำคัญได้แก่ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ และวัดหนองลังกา
วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร(วัดใหญ่) จ.พิษณุโลก
วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
ชาวบ้านส่วนใหญ่มักเรียกขานกันว่า วัดใหญ่ หรือวัดพระศรี กันจนติดปาก แม้นพระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหารคือ พระพุทธชินราช ชาวเมืองพิษณุโลกก็นิยมเรียกกันว่า หลวงพ่อใหญ่ ตามไปด้วย วัดใหญ่นับเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัด เพราะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเมืองและชาวไทยทั้งประเทศ ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเมื่อปี พ.ศ. 1900
ภายในวัดสิ่งโบราณสถานโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย อาทิ
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคุลี ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักสร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลาง และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวรารามและวัดบวรนิเวศวิหารตามลำดับ
บานประตูประดับมุก ที่ทางเข้าพระวิหารด้านหน้า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ ตรงกลางประตูมีสันอกเลาประดับลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ สองข้างเป็นลายกนกก้านแย่ง ช่วงกลางอกเลามีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เรียกว่า นมอกเลา เป็นรูปบุษบก มีรูปพระอุณาโลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ประดิษฐานบนบัลลังก์อยู่ในบุษบก สองข้างเป็นรูปชุมสายซึ่งเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง เป็นรูปฉัตรสามชั้น ใต้ฐานบุษบกมีหนุมานแบกฐานไว้ ส่วนเชิงล่างของอกเลาทำเป็นรูปกุมภัณฑ์ยืนถือกระบองท่าสำแดงฤทธิ์ ส่วนลวดลายบานประตูเป็นลายกนกที่มีภาพสัตว์หิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ เหมราช ครุฑ กินรีรำ และภาพสัตว์อื่น ๆ และยังมีลาย อีแปะ ด้านละ 9 วงมัดนกหูช้างประกอบช่องไฟระหว่างวงกลม หรือวงกลมเป็นลายกรุยเชิง มีลายประจำยามก้ามปูประดับขอบรอบบานประตู เดิมบานประตูวิหารพระพุทธชินราชทำด้วยไม้สักแกะสลัก เมื่อทำบานประตูประดับมุกเสร็จแล้ว บานประตูเก่าได้นำไปประดับประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์
พระเหลือ พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก เรียกว่า พระเหลือ และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองได้นำมารวมกันบนฐานชุกชี พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นหนึ่งหลัง อัญเชิญพระเหลือกับพระสาวกไปประดิษฐาน เรียกว่า วิหารพระเหลือ
พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติด้านหลังพระวิหาร สูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ.ศ. 1811 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า เนินวิหารเก้าห้อง
พระปรางค์ประธาน ศิลปสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา
วิหารแกลบ
พระเจ้าเข้านิพพาน เป็นโบราณวัตถุสมัยอยุธยา นับว่าเป็นชิ้นสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาวรวิหาร ถือว่าเป็นการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า คาดว่ามีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพ ทำด้วยศิลาตั้งอยู่บนจิตราการ ประดับด้วยลวดลายลงรักปิดร่องกระจกสวยงาม ที่ปลายหีบมีพระบาททั้งสองยื่นออกมา และบริเวณด้านหน้า หรือด้านท้าย หีบพระบรมศพ มีพระมหากัสสปะเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เปิดทุกวัน เวลา 6.30-18.00 น. ส่วนพิพิธภัณฑ์ในวัดเปิดเวลา 8.30-16.30 น.
วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556
วัดผาสามเงา จ.ตาก
วันนี้พามาเที่ยวที่จังหวัดตากค่ะ ที่วัดผาสามเงา
ผาสามเงา คือหน้าผาที่มีความสวยงาม และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่ที่ วัดป่าพระสามเงา ตำบลย่านรี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก
ผาสามเงา คือชื่อที่ ชาวบ้านเรียกขาน เนื่องจากบริเวณเชิงเขาริมหน้าผานั้น ได้มีการเจาะเป็นช่องลึกเข้าไปในเนื้อภูเขาเรียงกันจำนวน 3 ช่อง ภายในช่องผามีการระดิษฐานพระพุทธรูปปิดทองช่องละองค์ ปัจจุบันมีการสร้างบันไดไม้ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปได้
ทำไมถึงเรียกว่า "ผาสามเงา"
...จากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ...เมื่อประมาณปี พ.ศ.1206 มีพระฤาษีสององค์สร้างเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) และให้คนมาทูลเชิญราชวงศ์กษัตริย์จากเมืองละโว้หรือลพบุรีในปัจจุบัน ไปครองเมืองหริภุญชัย พระนางจามเทวี ได้รับมอบหมายให้ไปครองเมืองตามคำเชิญ
ดังนั้นพระนางจึงเสด็จมาทางชลมารค ขึ้นมาตามลำน้ำปิงปรากฏว่า เมื่อมาถึงบริเวณหน้าผาแห่งนี้เกิดเหตุมหัศจรรย์ มีฝนและพายุใหญ่พัดกระหน่ำจนเรือไม่สามารถแล่นทวนน้ำขึ้นไปได้
เมื่อมองไปยังหน้าผาซึ่งอยู่ริมน้ำ ก็ปรากฏเงาพระพุทธรูปสามองค์ที่หน้าผาแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้พระนางจามเทวี จึงสั่งให้เจาะหน้าผาและสร้างพระพุทธรูปบรรจุไว้ในช่อง ช่องละองค์ ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า "ผาสามเงา" สืบมานั่นเอง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)